สินิตย์ สั่งการกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศลงพื้นที่ให้ความรู้เกษตรกร ผู้ประกอบการผลไม้เตรียมตัวใช้ประโยชน์ RCEP หลังคาดบังคับใช้ต้นปี 65 เผยเกาหลีใต้ลดภาษี “ทุเรียน” ปีละ 4.5% เหลือ 0% ในปีที่ 10 และทยอยลดภาษีมังคุด ฝรั่ง มะละกอ อินทผลัม เปลือกส้ม ส่วนจีนลดภาษีผลไม้แปรรูปเหลือ 0% ในปีที่ 20 ญี่ปุ่นทยอยลดภาษีนำเข้ามะเขือเทศเหลือ 0% ในปีที่ 16
สินิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกต่ออีกว่า ได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเร่งลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น อุตรดิตถ์ (ทุเรียน สับปะรด มังคุด) อุดรธานี (มะม่วง กล้วยหอม) ยะลา-เบตง (ทุเรียน มังคุด) เป็นต้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2565 รวมถึงชี้แจงเรื่องกฎระเบียบทางการค้า พฤติกรรมของผู้บริโภค และช่องทางการจำหน่าย ทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการผลไม้ของไทย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภายใต้ความตกลง RCEP ไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าผลไม้สดและผลไม้แปรรูปเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในปัจจุบันหลายรายการ เช่น เกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีนำเข้าทุเรียนปีละ 4.5% จนเหลือ 0% ในปีที่ 10 (ปี 2574) หลังจากความตกลงใช้บังคับ รวมทั้งจะทยอยลดภาษีนำเข้า มังคุด ฝรั่ง มะละกอ อินทผลัม เปลือกส้ม เหลือ 0% ในปี 2574 ส่วนจีน ปัจจุบันยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้สดและแปรรูปส่วนใหญ่ให้ไทยแล้วภายใต้ FTA อาเซียน-จีน แต่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้แปรรูปเพิ่มเติมจนเหลือ 0% ในปีที่ 20 หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ (ปี 2584) ขณะที่ญี่ปุ่น จะทยอยลดภาษีนำเข้าน้ำมะเขือเทศเหลือ 0% ในปีที่ 16 หลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ (ปี 2579)
สำหรับผลไม้ เป็นสินค้าเกษตรสำคัญของไทย นำรายได้เข้าประเทศกว่าปีละ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้ FTA ของไทยที่มีผลบังคับใช้แล้ว 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ปัจจุบัน 12 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไนฯ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีศุลกากรนำเข้าผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ที่ส่งออกจากไทยทุกชนิด ส่วนอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ไม่เก็บภาษีนำเข้ากับผลไม้ส่วนใหญ่ที่ส่งออกจากไทย ยังคงเหลือเก็บแค่บางชนิด
ในช่วง 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและผลไม้แห้งไปทั่วโลก มูลค่ารวม 5,164.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 52% โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ FTA สัดส่วนสูงถึง 97% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด และส่งออกไปประเทศสมาชิก RCEP สัดส่วน 92% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด ซึ่งจีนถือเป็นตลาดส่งออกผลไม้สำคัญของไทย มีมูลค่าส่งออก 3,824 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 89% คิดเป็นสัดส่วน 86% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด รองลงมาคือ ฮ่องกง เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ โดยผลไม้ไทยที่การส่งออกขยายตัวได้ดี เช่น ทุเรียน มะม่วง ลำไย เงาะ และมังคุด
รู้จัก RCEP คืออะไร สำคัญอย่างไร
อาร์เซ็ป หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) คือ การตกลงเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ รวมกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยทุกประเทศได้ร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พย.63 หลังจากใช้เวลาในการเจรจากันไปก่อนหน้านี้แล้วกว่า 8 ปี
ในปัจจุบัน ประเทศสมาชิก RCEP มีทั้งสิ้น 15 ประเทศ มีประชากรรวมกันราว 2.3 พันล้านคน และเมื่อหันมาร่วมมือทางเศรษฐกิจกันแล้ว จะทำให้มีมูลค่าการค้าขายสูงที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 31 ของ GDP โลก
ประเทศไทยเองก็มีการค้าขายกับประเทศสมาชิกใน RCEP มากถึง 2 ใน 3 ของปริมาณการค้าทั้งหมด
ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจาก RCEP คือ สามารถเปิดตลาดการค้าการลงทุนในอีก 14 ประเทศ โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ คือ
- หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง
- หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่น ๆ
- หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์
- หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง อนิเมชั่น
- การค้าปลีก
เนื้อหาเพิ่มเติม : เตรียมตัวให้ทันก่อนรัฐจะใช้ RCEP ช่วยส่งออกผลไม้ไทย